ReadyPlanet.com


วิธีเก็บเงินด้วยการแบ่งเงิน 3 ก้อน


 วิธีเก็บเงินด้วยการแบ่งเงิน 3 ก้อน

 
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง
ถ้าไม่อยากลงเอยแบบเดิมๆ ต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แรง เราจะวางแผนการใช้จ่ายใหม่
 
เพราะคนเราแต่ละคนมีรายได้ และรายจ่ายไม่เท่ากัน ปัญหาที่มักพบคือ กระเป๋ามักรั่ว เงินหายไปก่อนที่ค่าใช้จ่ายจำเป็นจะหมด การแบ่งเงินเป็นส่วนๆ จะทำให้มองเห็นภาพรวมการใช้เงินของเราอย่างทะลุปรุโปร่งได้ไปจนสิ้นเดือน และมีตังค์นอนนิ่งๆ ไปถึงสิ้นเดือนได้แบบสบายๆ  
 
 
เงินก้อนที่ 1 ค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายรายเดือน (ค่าใช้จ่ายคงที่)
เงินก้อนนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นปกติ รวมถึงสิ่งที่จ่ายแล้วไม่ส่งผลอะไรต่อรายได้มากนัก จึงกันเงินไว้เป็นเรื่องที่ใช้เป็นกิจวัตร อาทิ ค่าอาหาร วันละ 3 มื้อ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าแท็กซี่ บัตรโดยสารรถไฟฟ้า/รถไฟฟ้าใต้ดิน วินมอเตอร์ไซค์ ค่าล้างรถ ค่าจอดรถรายเดือน ค่าไฟ-ค่าน้ำ ค่าแพ็คเกจมือถือรายเดือน ค่างวดรถ ผ่อนบ้าน/คอนโด ค่าเช่าบ้าน/คอนโด ค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว จ่ายตลาด ทานอาหารกับครอบครัวมื้อใหญ่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
 
เงินก้อนที่ 2 ค่าใช้จ่ายสมทบเป็นก้อน (ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือเพื่อการออมและการลงทุน)
เงินก้อนนี้สำหรับรายจ่ายที่มีแผนการใช้ล่วงหน้า อาจเป็นแผนทั้งระยะใกล้ และระยะไกล หรือออมไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการออมเงินสำหรับลงทุน ค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ อาทิ ค่าเทอมลูก ค่าบำรุงรักษารถ ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมบ้าน เงินออม กันเงินไว้ลงทุนในกองทุนรวม ลงทุนในหุ้น เงินลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA (Dollar-Cost Averaging) หรือตัดบัญชีเพื่อการ ลงทุนแบบอัตโนมัติแบบรายเดือนซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันมรดก
 
เงินก้อนที่ 3 ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคซื้อความสุข (สามารถผันแปรปรับลดได้ตามความเหมาะสม)
เงินก้อนนี้มักเป็นเงินที่ใช้เพื่อซื้อความสุข หรือตามใจตัวเอง ซึ่งรายจ่ายในก้อนนี้หากสามารถควบคุมให้มีแนวโน้มที่ลดลง หรือประหยัดเงินได้มากขึ้น ก็จะไม่เกิดภาวะที่เงินขาดระหว่างเดือนทำให้เรามีเงินเหลือเก็บ หรือนำไปลงทุนให้งอกเงยได้ ค่าใช้จ่ายที่อยู่ในกลุ่มนี้ อาทิ ค่าเครื่องดื่มต่างๆ กาแฟ/ชานมไข่มุก อาหารหรู ตั๋วหนัง สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า ศัลยกรรมความงาม เปลี่ยนมือถือใหม่ ปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง แต่งรถ แต่งบ้าน ของสะสม หนี้บัตรเครดิตและของฟุ่มเฟือยอื่นๆ
 
ดังนั้น หากเรามีความจำเป็นจะต้องจัดการกับรายจ่ายที่มีในแต่ละเดือน เพื่อให้มีเงินพอใช้หรือมีเหลือเก็บ ค่าใช้จ่ายก้อนแรกที่เราควรพิจารณาปรับลดก่อน คือเงินก้อนที่ 3 ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคซื้อความสุข เพราะเป็นค่าใช้จ่ายผันแปร ซึ่งหากมีการปรับลดลงบ้าง ก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ส่งผลมากเท่าค่าใช้จ่ายก้อนที่ 1 และ 2 ซึ่งมีความจำเป็น และอาจปรับลดทอนลงไม่ได้
 
หากถามว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคซื้อความสุขนี้ เราจำเป็นจะต้องตัดออกจากชีวิตทั้งหมดเลยหรือไม่? คำตอบก็คือ หากต้องตัดออกทั้งหมด ก็ดูจะโหดร้ายเกินไป เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้บางอย่างก็อาจเติมเต็มความสุข และเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตของเราได้ ดังนั้นเราอาจจะเลือกตัดหรือลดทอนบางส่วนลง เพื่อให้รายได้ และค่าใช้จ่ายที่คุณมีสมดุลกัน
 
การแบ่งเงินเป็น 3 ก้อนไม่ใช่เรื่องยาก แค่ลุกขึ้นมาทำเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนใหม่ สิ่งสำคัญคือเราจะใช้วิธีไหนก็ได้ที่จะทำให้เราเห็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของแต่ล่ะเดือน และทำให้เสมอต้นเสมอปลายจนติดเป็นนิสัย
 
 


ผู้ตั้งกระทู้ kt :: วันที่ลงประกาศ 2023-12-02 05:35:39


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2013 All Rights Reserved.